วันจันทร์ที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2559

ลักษณะแตกต่างกันระหว่างลัทธิทั้ง ๖ และพุทธปรัชญา


    
พุทธปรัชญา : โลกทัศน์เกี่ยวกับโลกและชีวิตของพระพุทธศาสนา
 “พุทธปรัชญา” ได้แก่ หลักคำสอนเกี่ยวกับความจริง (สัจธรรม) และหลักปฏิบัติ (จริยธรรม) บางประการของพระพุทธศาสนาที่นำมาศึกษาวิเคราะห์ด้วยการใช้เหตุผลตามวิธีการของปรัชญา จากนิยามความหมายนี้ทำให้มองเห็นขอบเขตของพุทธปรัชญาว่าจำกัดอยู่ในส่วนที่เป็นศาสนธรรมของพุทธศาสนาเท่านั้น จะไม่รวมไปถึงองค์ประกอบอื่น ๆ เว้นเสียแต่ว่าองค์ประกอบเหล่านี้ จะเกี่ยวโยงกับศาสนธรรม จึงจะศึกษาวิเคราะห์ด้วยการใช้เหตุผลเชิงปรัชญาด้วยเท่านั้น
 ลักษณะของพุทธปรัชญา  
            หลังจากที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้แล้ว ได้ทรงแสดงหลักธรรมให้เห็นถึงความเป็นศาสนาที่สมบูรณ์ด้วยเหตุผล หลักจริยธรรมที่สามารถปฏิบัติได้จริง โดยทรงวางหลักง่าย ๆ ของการดำเนินชีวิตเอาไว้ ซึ่งพอจะประมวลลักษณะเด่น ๆ ของพุทธปรัชญาได้ดังนี้
- หลีกเลี่ยงที่จะโต้แย้งทางปรัชญา เช่นปัญหาทางอภิปรัชญาที่เรียกว่า อัพยากตปัญหา เป็นต้น  มีจุดเริ่มต้นแบบทุนิยม (ทุกข์กับความดับทุกข์เท่านั้น)
- และจบลงที่สุนิยม มีลักษณะเป็นสัจจนิยมฯ กรรม คือ การกระทำด้วยตนเอง
- เป็นแบบปฏิบัตินิยม คือ  อริยสัจ ๔ มรรค ๘ หรือมัชฌิมาปฏิปทา  ปฏิจจสมุปบาท (กฎสากลในธรรมชาติ) เป็นต้น

พุทธปรัชญาปฏิเสธแนวคิดของปรัชญาอินเดียระบบเก่า
                      พุทธศาสนาให้ใช้หลักกาลามสูตร ปฏิเสธการสร้างโลกของพระพรหม มอว่าสรรพสิ่งเป็นไปตามหลักปฏิจจสมุปบาท ไม่เห็นด้วยกับการอาบน้ำล้างบาปและยัญพลีกรรม ไม่ยอมรับระบบวรรณะคนจะดีชั่วเพราะกรรม มิใช่ชาติตระกูล ไม่ยอมรับทางสุดโด่งทั้งสองส่วน ทรงแสดงทางสายกลาง หลักธรรมสำคัญของพระพุทธศาสนาที่โดดเด่น เช่น
- ไตรลักษณ์ ทรงแสดงว่า สรรพสิ่ง ย่อมมีลักษณะเกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไปตามหลักแห่งอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา คือ ไม่เที่ยงเป็นทุกข์และมิใช่ตัวตนเสมอกัน ไม่มียกเว้น
 - อริยสัจ ๔ ทรงแสดงว่าปัญหาทุกข์ของชีวิตทุกอย่างเกิดจากสาเหตุคือความอยาก (ตัณหา) ด้วยประการต่าง ๆ แล้วทรงแสดงว่า ความดับสนิทแห่งความทุกข์ทั้งมวล (นิโรธ) ต้องปฏิบัติตามแนวทางแห่งมรรคมีองค์ ๘ ประการ
 - ปฏิจจสมุปบาท หรือทฤษฎีสาเหตุสัมพันธ์ ว่า การเกิดกับดับของสิ่งต่าง ๆ เป็นไปตามหลักปัจจยาการคือเหตุปัจจัยอาศัยกันเกิดขึ้นแบบลูกโซ่ ในลักษณะเป็นวงจรหาเบื้องต้นและเบื้องปลายหรือที่สุดไม่พบ ผลที่เกิดจากสาเหตุอันหนึ่ง ย่อมเป็นสาเหตุให้เกิดสิ่งอื่นอีกต่อไป เรื่อยไป ไม่มีสิ้นสุด
 - กฎแห่งกรรม ทรงแสดงว่ากรรมคือการกระทำของมนุษย์มีแรงผลักดันมาจากกิเลสเป็นเหตุแล้วให้เกิดผล (วิบาก) ของการกระทำนั้น แล้วผลก็จะกลายเป็นเหตุให้ทำกรรมต่อไปอีก จนกว่าจะตัดกิเลสอันเป็นเหตุแห่งการทำกรรมได้ วงจรแห่งกฎแห่งกรรมก็จะสิ้นสุดลง เข้าสู่ความสิ้นทุกข์ในวัฏฏสงสาร คือ พระนิพพาน หรือ เข้าสู่อรหันตภูมิ การกระทำจึงจะเป็นแต่เพียงกิริยาไม่มีผล (วิบาก) ที่เป็นทุกข์อีกต่อไป
 - อนัตตา จากการที่สิ่งทั้งหลายอาศัยกันเกิดขึ้นตามหลักแห่งปัจจยาการ จึงไม่มีอะไรเป็นตัวตนที่แท้จริงที่จะยึดมั่นถือมั่นว่า เป็นตัวเราของเรา เป็นตัวเขาของเขา ไม่อยู่ในอำนาจของใคร ที่จะบังคับบัญชาให้เป็นไปตามที่ตนปรารถนาได้ จึงไร้ตัวตน ไม่มีอาตมัน และวิญญาณอมตะดังที่ลัทธิเทวนิยมทั่วไปเชื่อถือกันอยู่
                                                    

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น